กองทุน LTF หรือที่เรียกว่ากองทุนรวมหุ้นระยะยาวนั้น เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อการกระตุ้นให้มีการลงทุนในตลาดทุนให้มากขึ้น โดยการเพิ่มบทบาทของการลงทุนผ่านสถาบัน ทำให้ตลาดหุ้นในบ้านเรามีเสถียรภาพมากขึ้น แต่เคยทราบกันหรือไม่ว่าการลงทุนในกองทุน LTF ที่ว่าชิลๆนั้น บ่อยครั้งก็มีปัญหามากกว่าที่คิดไว้ ลองดูเลยครับว่าปัญหาที่อาจจะพบเจอได้มีอะไรบ้าง จะได้เตรียมทางบริหารจัดการกันได้ถูกต้อง
สับเปลี่ยนกองทุนข้ามบลจ. ระวังให้ดีๆ
ในทางทฤษฎี การสับเปลี่ยนกองทุนสามารถทำได้ ไม่มีปัญหาอะไร แต่ในทางปฏิบัติ มีข้อที่ควรคำนึงถึงซักนิดก่อนตัดสินใจสับเปลี่ยนกองทุนครับ
ประเด็นแรกคือการสับเปลี่ยนข้าม บลจ. อาจจะมีค่าธรรมเนียมในการสับเปลี่ยนกองทุน โดยส่วนใหญ่กองทุนต้นทางจะเป็นผู้เก็บค่าธรรมเนียมนี้ครับ (เราเรียกกันว่าค่านอกใจ) ส่วนจะเก็บอย่างไรเท่าไหร่ ก็ต้องลองติดต่อแต่ละบลจ.ดูนะครับ
ส่วนอีกประเด็นคือเรื่องของการขายคืนกองทุนที่สับเปลี่ยน เพราะว่าพอเราย้ายกองทุนไปที่ใหม่ บลจ.ใหม่ก็จะบันทึกต้นทุนการซื้อกองทุนใหม่ แต่พอขายคืนนี่หล่ะครับคือปัญหา เพราะเราอาจจะถือที่เดิมมา 3 ปี ย้ายมาอยู่ที่ใหม่ 4 ปี บางทีพอขายคืน ทาง บลจ.ปลายทางเค้าไม่ทราบหรอกครับว่าก่อนจะมาอยูที่เค้า เราถือกองทุนนี้มากี่ปีแล้ว กลายเป็นว่าพอจะขายคืนทีนึง บลจ. ก็จะเตือนว่าเราถือกองทุนไม่ครบกำหนด ทีนี้ก็ไล่กันยาวเหยียดเลยจ้า
ดังนั้น ทางที่ดี เวลาย้ายก็แนะนำให้ย้ายอยู่ใน บลจ. เดียวกัน ปกติเค้าก็จะไม่เก็บค่าธรรมเนียมย้ายกองด้วย แถมทำรายการก็ไม่วุ่นวาย แต่ถ้าไม่ไหวกับที่เก่าอยากไปที่ใหม่ ผู้ถือหน่วยก็ต้องเก็บหลักฐานกันละเอียดๆหน่อยนะครับ เพราะว่าโดนสรรพากรเรียกมาทีนึงมันไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ครับ
ขายคืนกองทุนผิดเงื่อนไข
เรื่องขายกองทุนผิดเงื่อนไขอาจจะไม่ได้เจอกันได้บ่อยๆ แต่ว่ามันก็อาจจะมีเหตุที่ทำให้ขายผิดเงื่อนไข ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ โดยส่วนเคยเจอประสบการณ์ขายผิดเงื่อนไขเนื่องจากความผิดพลาดของบลจ. ด้วยนะครับ ซึ่งแน่นอนว่าพอขายผิดเงื่อนไขแล้ว ท่านผู้นั้นที่เราไม่ขอเอ่ยนาม ก็จะมีสานส์ส่งไปยังบ้านของเราว่าเราขายผิดเงื่อนไข บอกว่าเราจะต้องชำระเงินดังต่อไปนี้
– เงินภาษีที่ท่านเคลมคืนไป ขอให้เอาไปคืนสรรพากรด้วย
– เนื่องจากว่าการที่ท่านขายคืนผิดเงื่อนไขถือว่าท่านยื่นภาษีไม่ถูกต้อง ต้องเสียเงินเพิ่ม คิด 1.5% ต่อเดือนของเงินในข้อข้างบน
– เงินที่ขายคืน ถ้าท่านมีกำไรจากการขายคืน กำไรก้อนนั้นให้บันทึกเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี ในปีที่ท่านขายคืนด้วย
เรียกว่าโดนกันไปอย่างน้อยๆ 3 เด้งเลยทีเดียว
วิธีจัดการหากรู้ว่าผิดเงื่อนไขแน่ๆ คือ รีบยอมรับผิด และไปจ่ายค่าปรับเสียให้ถูก เพราะหลักการของสรรพากรคือให้ผู้เสียภาษีประเมินตนเองครับ ถ้าประเมินตนเองผิด ก็จะมีเงินเพิ่มเดือนละ 1.5% และสรรพากรก็มักจะมาหาท่านตอนเวลาผ่านไปแล้วเป็นเวลานานๆ ยิ่งนานก็ยิ่งโดนเงินเพิ่มเยอะครับ
ลืมบอกไปว่าเวลาขายคืนผิดเงื่อนไขที่บอกว่าเป็นความบกพร่องของ บลจ. ทางสรรพากรเค้าไม่ได้รับทราบด้วยนะครับ ไม่ได้ยกเว้นหรืออนุโลมให้แต่อย่างใด ต้องเสียค่าปรับทุกกรณี ส่วนเรื่องจะไปฟ้องบลจ.ต่อนั้นก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้เสียหายครับ
ไม่ได้ยื่นเสียภาษีเงินปันผล
ตอนที่เรากรอกข้อมูลเวลาสมัครเปิดบัญชีกองทุน เค้าจะถามว่าจะให้ทางบริษัท หักภาษีเงินปันผล ณ ที่จ่ายเลยหรือไม่? คำตอบที่อยากแนะนำก็คือ ให้หักไปเลยจะดีกว่า
เงินปันผลจากกองทุนรวมจัดเป็นเงินได้ 40(8) ซึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะเสียภาษีเงินปันผล ณ ที่จ่าย 10% หรือจะไม่ให้หัก ณ ที่จ่าย แล้วไปรวมเสียภาษีเงินได้ ณ สิ้นปี บางคนคิดเล็กคิดน้อยบอกว่าไม่ให้หักสิ เดี๋ยวเก็บเงินนี้ไว้ไปหมุนก่อนค่อยไปทำเรื่องเสียภาษีตอนปลายปี ปรากฏว่าสุดท้ายทำนั่นนู่นนี่ “ลืม” นำมารวมคำนวณภาษีซะอย่างนั้น ดังนั้นแนะนำว่า ในใบสมัครให้เลือก เสียภาษี ณ ที่จ่ายไปเลยดีกว่า
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ลองดูฐานภาษีของตัวเองด้วยว่า อยู่ที่ฐานภาษีขั้นไหน ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าซื้อ LTF ได้ ก็น่าจะมีฐานเงินได้เกิดกว่า 10% อยู่แล้ว ดังนั้นให้เค้าหักไปเลย 10% ดีกว่าต้องมานั่งเสียภาษี 20% นะครับ เดี๋ยวจะเข้าทำนองเสียน้อยเสียยาก
กำไรส่วนต่างจากการขายคืนหน่วยลงทุน โดนเก็บภาษี???
สมมุติว่าในปี 2560 นี้ มีรายได้จากเงินเดือน 40(1) 935,000 บาท และมีเงินได้จากการขายคืน LTF ในปีนั้นอีก 165,000 บาท คำนวณเป็นรายได้ 1,100,000 บาท ซื้อ LTF ได้สูงสุด 15% คิดเป็น 165,000 บาท ว่าแล้วก็เอาเงินที่ได้จากการขายคืน LTF นั่นแหละ ซื้อกลับเข้าไปเลยเต็มเพดาน ปรากฏว่าต่อมาเมื่อขายคืน ได้กำไรมา 10% คิดเป็น 16,500 บาท วันดีคืนดี เจ้าหน้าที่สรรพากรบอกว่า เงินกำไรที่ได้มาก้อนนี้ ต้องเสียภาษีด้วยนะ มันเกิดอะไรขึ้น???
เราทราบกันดีว่ากองทุน LTF นั้นเป็นกองทุนที่ไม่ใช่ว่าจะซื้อเท่าไหร่ก็ได้ แต่ผู้ซื้อกองทุนสามารถซื้อได้สูงสุด 15% ของรายได้พึงประเมิน ย้ำว่าพึงประเมินนะครับ เงินได้ใดที่ได้รับการยกเว้นไม่นับเป็นเงินได้พึงประเมินนะครับ ดังตัวอย่างนี้ เงินที่ขายคืน LTF ออกมา ถือเป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้น ไม่นับเป็นเงินได้พึงประเมิน ดังนั้นรายได้พึงประเมินของกรณีนี้ จะเท่ากับ 935,000 บาทเท่านั้น และจะซื้อ LTF ได้สูงสุดเพียง 140,250 เท่านั้น ดังนั้นกำไรที่ได้จากขายคืนของเงินส่วนนี้ ไม่เสียภาษีครับ แต่ว่าส่วนที่ซื้อเกินไป 24,750 บาท ได้กำไรมา 2,475 บาท ส่วนนี้ต้องนำมารวมคำนวณภาษีในปีที่ขายคืนด้วยโดยนับเป็น 40(8) คือเงินก้อนนี้พอเอาไปคิดภาษีมันก็ไม่ได้เยอะอะไรมากมายหรอกครับ แต่ว่าเวลายื่นภาษีไม่ถูกต้องนี่สิครับ มันก็ต้องเสียเวลายื่นใหม่ ตั้งใจว่าจะได้เงินคืนภาษีออกมาเร็วๆ แต่พอยื่นผิด ก็เลยทำให้ได้เงินคืนภาษีช้าไปอีก หงุดหงิดเสียเปล่าๆ
สรุปว่า เวลาซื้อ LTF ดูให้ดีๆว่ารายได้พึงประเมินที่แท้จริง เป็นเท่าไหร่กันแน่นะครับ จะได้ไม่ต้องมาเสียเวลากับการนั่งยื่นแบบกันใหม่
เลือกกองทุนผิด???
ปกติเวลาซื้อกองทุน LTF เราก็มักจะพูดว่าได้กำไรตั้งแต่ซื้อแล้ว แต่ในความเป็นจริงถ้าเลือกกองผิดก็อาจจะไม่ได้กำไรอย่างที่คิดก็ได้นะครับ บางกองที่ซื้อไปตอนนี้จะครบกำหนดขายคืนแล้ว ยังติดดอยอยู่ก็มีนะครับ ดังนั้นก็อาจจะต้องดูดีๆก่อนที่จะเลือกซื้อกองทุนครับโดยหลักการเลือกซื้อกองทุน LTF ก็ไม่ต่างจากการซื้อกองทุนรวมหุ้นทั่วๆไปครับนั่นคือ
– ค่าธรรมเนียมกองทุน ถูกๆไว้ก่อนก็ได้เปรียบ
– ผลตอบแทนย้อนหลังและความผันผวนของกองทุน อย่างน้อยถ้าซื้อกองทุนที่ผันผวนไม่มาก ก็ยังมีโอกาสที่จะไม่ขาดทุนครับ ถ้ามีประวัติผลตอบแทนย้อนหลังดีๆด้วย ก็ทำให้เราค่อนข้างมั่นใจได้ว่ากองทุนนี้ทำผลงานได้ดีและได้กำไร
– ขนาดกองทุน อันนี้ก็สำคัญไม่แพ้กัน กองทุนที่มีขนาดใหญ่เกินไปก็อุ้ยอ้าย ขนาดกองทุนเล็กเกินไปก็อาจจะผันผวนได้มากเวลาที่มีการขายคืน ก็อาจจะต้องดูขนาดกลางๆ เคยถามผู้เชี่ยวชาญหลายๆท่าน ก็แนะนำว่าขนาดประมาณ 3,000 – 5,000 ล้านถือว่ากำลังใช้ได้ครับ
นอกจากนี้ ใครที่ดูที่แนวทางการลงทุน หน้าตาผู้จัดการกองทุน บลจ. ความสะดวกในการซื้อขาย ก็สุดแล้วแต่ความชอบเลยครับ
หรือใครที่ไม่อยากมาปวดหัวซื้อผิดกองหรือผิดช่วงเวลา แนะนำง่ายสุดๆก็คือการ DCA ครับหรือการซื้อกองทุนเฉลี่ยเป็นรายเดือน แบบนี้รับรองว่าต้นทุนเฉลี่ยก็ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป แถมรักษาวินัยในการออมเงินด้วย