การลงทุนก็ไม่ต่างกับการเดินทาง ต้องวางแผนสารพัดอย่างเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย และแน่นอนว่าสิ่งที่เรากลัวที่สุดในการลงทุนไม่ใช่ความล้มเหลว
แต่เป็นการล้มเลิกไม่ทำตามแผนในการลงทุน ในวันนี้เราลองมาหาสาเหตุที่การลงทุนไปไม่ถึงเป้าหมายพร้อมกับแนวทางการจัดการดูนะครับ
เป้าหมายไม่ชัดเจน
โจทย์ที่เราเจอมากที่สุดเวลาวางแผนการลงทุน คือ เป้าหมายที่ไม่ชัดเจน คนส่วนใหญ่ที่เราถามเรื่องการลงทุน คือ ให้เงินลงทุนโตดีกว่าฝากธนาคาร แต่เมื่อเราเจอโจทย์แบบนี้ เราพบว่ามีการลงทุนอีกมากมายที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่าฝากธนาคาร จะดีกว่าคือต้องระบุได้ว่า วัตถุประสงค์การลงทุนเพื่ออะไร(Specific) จำนวนเงินเท่าไหร่(Measurable) วิธีการที่จะไปสู่เป้าหมาย(Achievable) ความเป็นไปได้ที่จะไปถึงเป้าหมาย(Realistic) และระยะเวลาในการลงทุน(Time) ทั้งหมดนี้เหมือนกับการติดกระดุมเม็ดแรก ถ้าตั้งคำถามที่ใช่ คำตอบก็มีแนวโน้มจะชัดเจน แต่ถ้าคำถามผิด การจะไปถึงเป้าหมายก็อาจจะยากหน่อย
ทัศนคติต่อการลงทุนที่ผิดๆ
เราชอบเปรียบเทียบการลงทุนในตราสารทางการเงินเหมือนกับการฝากเงินกับธนาคาร เราคิดว่าดอกเบี้ยจะคิดทุกวันเหมือนกับดอกเบี้ยธนาคาร เลยคิดว่าจะถอนเงินจากการลงทุนเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งวิธีคิดแบบนั้นอาจจะใช้ได้กับกรณีลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินหรือตราสารหนี้ระยะสั้นเท่านั้น ในขณะที่การลงทุนในระดับที่เสี่ยงมากกว่านี้ ผลการลงทุนในระยะสั้นอาจจะผันผวนได้ ดังนั้นสิ่งที่เราอาจจะต้องเตรียมใจเอาไว้คือ หากเป็นการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ก็อาจจะมีบ้างที่พอร์ตการลงทุนจะผันผวนได้ แต่หากเราทนกับความผันผวนได้ เราก็จะได้รับรางวัลเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนในที่สุด
เลือกสินทรัพย์ลงทุนที่ผลตอบแทนและความเสี่ยงไม่สอดคล้องกับเป้าหมาย
เราแนะนำประโยคนี้ที่ต้องจำให้ขึ้นใจ “ยาวเสี่ยงสูง สั้นเสี่ยงต่ำ” เคยได้ฟังผู้ใหญ่ในวงการท่านหนึ่ง เปรียบเทียบแบบเห็นภาพเหมือนกับการตีกอล์ฟ ยิ่งระยะจากหลุมไกลๆต้องเลือกไม้ตีให้ไกลๆไว้ก่อน ไม่ต้องเน้นแม่น (คือต้องเลือกลงทุนในทรัพย์สินที่มีการเติบโตระยะยาว แต่ผันผวน) แต่หากระยะขึ้นในเขตที่ใกล้หลุมขึ้นเรื่อยๆ ต้องเลือกใช้ไม้ตีที่เน้นความแม่น ไม่เน้นระยะไกล (เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่ผันผวนมาก โอกาสขาดทุนน้อย)
ไม่ได้ทบทวนการลงทุน
บางที่การตั้งเป้าหมายลงทุนเป็นเรื่องระยะยาว ซึ่งระหว่างทางอาจจะมีปัจจัยหลายอย่างมากระทบ ทำให้ผลการลงทุนไม่ได้เป็นไปอย่างที่ตั้งหวังไว้ เช่น เราตั้งเป้าหมายต้องได้ 8% ต่อปี แต่ระหว่างก็อาจจะมีสภาวะตลาดที่ไม่ได้เป็นใจ ดังนั้นการได้มาทบทวนพอร์ตการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละครั้ง จะช่วยให้เราเห็นทิศทางของการลงทุนว่าเติบโตมากหรือน้อยอย่างไร สัดส่วนการลงทุนยังคงเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่และสามารถที่จะประเมินสถานการณ์ได้ว่าควรจะจัดพอร์ตอย่างไรต่อไป
ไม่ได้สร้างรูปแบบการลงทุนที่เป็นระบบ
เรามักชอบพูดกันว่า “เดี๋ยวค่อยปรับการลงทุนกันตามสถานการณ์” ซึ่งคำพูดนี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเรามีแนวทางพื้นฐานวางไว้แล้วเท่านั้น ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นการลงทุนแบบมั่วๆไป แนวทางหนึ่งที่เราไปปรับใช้ได้คือการวางระบบ Core and Satellite Portfolio นั่นคือวางแนวทางพอร์ตหลักไว้ก่อน แล้วการลงทุนบางส่วนค่อยนำเอาไปปรับสัดส่วนตามสถานการณ์ อาจจะจัดให้มีสัดส่วนหลัก 80% ลงทุนในพอร์ตระยะยาว แล้วอาจจะจัดให้มีพอร์ตอีก 20% ที่เราสามารถปรับพอร์ตขึ้นลงได้อย่างอิสระตามสถานการณ์หรือธีมการลงทุนในช่วงนั้น
ตัวอย่างเช่น จัดให้พอร์ต 80% ลงทุนในหุ้นดัชนีและตราสารหนี้ ส่วนอีก 20% ลงทุนในหุ้นธีม Healthcare เป็นต้น
ไม่ได้วางแผนสภาพคล่อง/กองทุนเผื่อฉุกเฉิน
หลายครั้งที่การลงทุนไปไม่ถึงเป้าเพราะเราต้องเอาเงินลงทุนไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น เช่น มีอุบัติเหตุอันต้องทำให้เสียทรัพย์ มีค่าใช้จ่ายแบบปุ๊บปั๊บเกิดขึ้นมา วิธีนี้แก้ได้ง่ายๆด้วยการเตรียม emergency fund แยกไว้ต่างหากไม่เอาไปรวมกับการลงทุนในรูปของเงินฝาก หรือลงทุนในกองทุนตลาดเงินเป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งที่เราควรเตรียมพร้อมไว้ได้คือการทำประกันความเสี่ยง เอาเงินน้อยที่เราควบคุมได้ ไปแลกกับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้
ไม่ได้กระจายความเสี่ยงอย่างเพียงพอ
ทุกวันนี้เราอาจจะเคยได้ยินการถกเถียงกันว่า ควรจะกระจายเอาไข่ใส่ไว้หลายตะกร้า หรือควรจะเอาไข่ใส่ไว้ในตะกร้าเดียว แล้วปกป้องให้ดีที่สุด ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่ได้มีคำตอบตายตัว เพราะก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป คำแนะนำอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือพิจารณา “เวลา” และ “ประสบการณ์” นั่นคือเราประเมินแล้วว่าถ้ามีเวลาติดตามการลงทุนได้อย่างเพียงพอ มีความรู้เพียงพอจะติดตามได้อย่างเข้มข้น เราก็สามารถที่จะโฟกัสการลงทุนได้ในสินทรัพย์เฉพาะบางประเภทได้ แต่ถ้าหากเราไม่มีเวลาและประสบการณ์มากพอ การกระจายความเสี่ยงก็เป็นตัวเลือกที่น่าทำมากกว่า
ถูกรบกวนโดยข่าวต่างๆหรือมีProject ใหม่ๆเข้ามาในชีวิต
อันนี้เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยากมาก โดยเฉพาะปัจจุบันที่เราสามารถรับสื่อได้ง่ายมากๆ พร้อมที่จะดูดเงินหรือทำให้เราไขว้เขวได้ตลอดเวลา ถ้าเราเป็นคนที่มีความมั่นคงมากพอ วินัยในการลงทุนตามแผนการจะช่วยได้ แต่ถ้าหากเรารู้ว่าบังคับตัวเองไม่ได้แน่ๆ สิ่งที่แนะนำคือ เราอาจจะต้องให้เครื่องมือบางอย่างมาช่วยควบคุมเรา เช่น เข้าโปรแกรมบางโปรแกรมที่มีการตัดเงินลงทุนอัตโนมัติ การปรับสัดส่วนพอร์ตอัตโนมัติ หรืออาจหาที่ปรึกษาซักคนเอาไว้ช่วยดึงสติเราไม่ให้หลุดจากแผนการลงทุน
ใครที่กำลังจะเริ่มลงทุน หรือได้เริ่มลงทุนไปแล้ว ลองสำรวจดูนะครับ ว่าเราได้ทำตามข้อที่ว่ามาเหล่านี้รึเปล่า เพื่อที่จะทำให้เราเพิ่มศักยภาพในการลงทุนให้ดีขึ้น
ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จในการลงทุนครับ